วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

ทำอย่างไรเมื่อได้สอนเด็กพิเศษ

ทำอย่างไรเมื่อได้สอนเด็กพิเศษ
                                      ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
12 มีนาคม 2560

เนื่องจากปัจจุบันพบเด็กที่มีความต้องการพิเศษในสถานศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ครูหลายคนที่ไม่มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษคงมีความสงสัย และเกิดความวิตกเมื่อได้รับมอบหมายให้สอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ 
ก่อนอื่นคงต้องคลายความสงสัยก่อนว่าเหตุใดจึงต้องสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ตามความในพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 ที่ระบุไว้ในมาตราที่ 10 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาที่ระบุให้การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือ ทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้  หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส  ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ   การจัดการศึกษาสำหรับบุคคคลดังกล่าวให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง นอกจากนั้นยังระบุว่าให้จัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษด้วยรูปแบบที่เหมาะสมคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น 
นอกจากนั้น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวดที่2 มาตรา 10 วรรค 2-4  ระบุให้จัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่ความต้องการพิเศษตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา สำหรับการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลมีความสามารถพิเศษต้องจัดในรูปที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับข้อความในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 23 วรรค 2-4 ที่ระบุว่ารัฐภาคียอมรับในสิทธิของเด็กพิการที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งด้านการได้รับการศึกษา การฝึกอบรม การบริการด้านสุขภาพ การฟื้นฟูสภาพ บริการด้านการฝึกอาชีพ 
การจัดการศึกษาและบริการสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้น  รัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง พ่อแม่ผู้ปกครอง จะต้องจัดให้เหมาะสมกับพัฒนาการและความต้องการจำเป็น โดยให้ได้รับการเข้าถึงและได้รับการศึกษาอบรม ตลอดจนบริการดูแลสุขภาพ บริการฟื้นฟูสภาพ อย่างเหมาะสม  ครูที่ได้รับมอบหมายจึงต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเภท ความต้องการพิเศษ วิธีการจัดการเรียนรู้ สื่อ และวิธีประเมินผลการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคน ซึ่งต้องมีการจัดทำแผนการศึกษารายบุคคล ที่ต้องจัดทำโดยได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้รับการส่งเสริมให้มีพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอิสระได้อย่างมีความสุขตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน
สำหรับการสอนเด็กพิเศษควรสอนโดยยึดหลักดังนี้
1. หลักการพัฒนาเด็กพิเศษอย่างเต็มศักยภาพและสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของเด็กพิเศษ
2. หลักการจัดการศึกษาพิเศษเพื่อการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข
3. หลักความเสมอภาค
4. หลักการมีส่วนร่วม
5. หลักความสอดคล้อง
สำหรับขั้นตอนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ  ครูควรดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1. ประเมินความสามารถผู้เรียน
2. กำหนดเนื้อหา ประสบการณ์
3. ทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล
4. จัดการเรียนรู้
5. ประเมินและสรุปผลการเรียน
............................................................................................................................................................................
รายการอ้างอิง
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ. พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551
ค้นวันที่ 3 มีนาคม 2559 จาก http://dep.go.th/?q=th/node/432
จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์ (2559) ทำอย่างไรเมื่อได้สอนเด็กพิเศษ กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (2543) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา

ลาดพร้าว

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การพัฒนาชุดฝึกอบรมทางไกลสำหรับครู เรื่อง การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ

                                 การพัฒนาชุดฝึกอบรมทางไกลสำหรับครู เรื่อง  การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ

                                                              ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.จรีลักษณ์  รัตนาพันธ์
                                                          สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 
                                                                                                                                                             
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจความต้องการความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ 2) พัฒนาและหาประสิทธิภาพชุดฝึกอบรมทางไกลสำหรับครู  เรื่อง  การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ 3) เปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ก่อนและหลังการใช้ชุดฝึกอบรมทางไกล เรื่อง  การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ 4) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับชุดฝึกอบรมทางไกลสำหรับครู เรื่อง  การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ รูปแบบการวิจัยเป็นแบบการวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการสำรวจความต้องการความรู้ด้านการจัดการศึกษาพิเศษเป็นครู จำนวน 86 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาผลการใช้ชุดฝึกอบรมเป็นครู จำนวน 22 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) ชุดฝึกอบรมทางไกล เรื่อง การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ  2) แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจ 3) แบบสอบถามความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที  และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยปรากฏผลดังนี้
1.ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่ครูต้องการ คือ
การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ บกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก บกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ และการวิจัยทางการศึกษาพิเศษ
2. ชุดฝึกอบรมที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 1) เอกสารชุดฝึกอบรมทางไกลสำหรับครู เรื่อง การจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และ2) คู่มือการใช้ชุดฝึกอบรม ในเอกสารชุดฝึกอบรมประกอบด้วย ชื่อชุดฝึกอบรมทางไกล โครงสร้างเนื้อหา แนวคิด วัตถุประสงค์ เนื้อหา และกิจกรรมหลังการศึกษาชุดฝึกอบรมทางไกล มีเนื้อหา 2 ตอนคือ 1 การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ตอนที่ 2 การวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ  สำหรับคู่มือการใช้ชุดฝึกอบรมทางไกล  ประกอบด้วย  คำอธิบายชุดฝึกอบรม วัตถุประสงค์  คำชี้แจงการใช้ชุดฝึกอบรม  กำหนดการฝึกอบรม  และการประเมินผลที่ใช้ในการอบรม โดยชุดฝึกอบรมที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 79.50/81.35
3. ผลการเปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจของผู้ใช้ชุดฝึกอบรมพบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนที่ได้จากการทดสอบความรู้หลังการใช้ชุดฝึกอบรม สูงกว่าก่อนการใช้ชุดฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อชุดฝึกอบรมอยู่ในระดับมากที่สุด

คำสำคัญ  ชุดฝึกอบรม  ครู ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ
...............................................................................

Development of Distance Training Packages for Teachers on Education Providing for Learner with Special Needs
Jareeluk  Ratanaphan, Ph.D., Assistant professor
School of Educational Study, 
Sukhothai Thammatirat Open University, Thailand 


         The purposes of this research were; 1. to survey the teacher’s needs on education providing for learner with special needs 2. to develop a distance training packages for teacher on education providing for learner with special needs 3. to compare trainee’s achievement before and after using the packages  4. to study the effects of using the packages on trainee’s opinion on the distance training packages.  
         The design of the experiment was research and development. The research sample for survey were 86 teachers, and 22 teachers for study the effects of using the packages on achievement and opinion. The research instrument comprised: 1) training packages           for teachers on education providing for learner with special needs 2) achievement test          3) questionnaire. Mean, percentage, standard deviation, t-test and content analysis were used for data analysis.
The findings of the research were as follows:
 1. The teacher’s needs on knowledge about teaching for learner with learning disability, mental retardation, autism, physical and health impairment and research in special education.
2. The package composed of special education management for special needs student document and manual of distance training packages.  The document consisted by name of packages, explanation for educator, content’s structure, concept, objectives, content and activities. Manual of distance training packages consisted by explanation about document, objectives, explanation about using the package, training schedule, and evaluation. The efficiency of packages was established at 79.50/81.35.
3. The post test average scores of trainee’s achievement were higher than pretest.
4. The trainee’s opinion on the package was at the highest level.




Keywords; training package, teacher, learner with special needs 

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

ดนตรีไทยบำบัด

การใช้กิจกรรมดนตรีไทย  เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเด็กที่มีอาการสมาธิสั้นเพื่อเสริมสร้างช่วงระยะความสนใจ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "สมาธิ" ของเด็กได้เป็นอย่างดี  (อ่านต่อ)

วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2557

การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาช่วงระยะความสนใจของเด็กสมาธิสั้น

งานวิจัยเรื่องนี้ เป็นการพัฒนาชุดฝึกอบรมทางไกลสำหรับครูและผู้ปกครอง เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาช่วงระยะความสนใจของเด็กที่มีสมาธิสั้น  (รายละเอียด)

วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557

ชุดฝึกอบรมทางไกลสำหรับครูและผู้ปกครอง เรื่อง กิจกรรมพลศึกษา

งานวิจัยเรื่องนี้ เป็นงานวิจัยที่ศึกษาและพัฒนาขึ้นสำหรับครูและผู้ปกครองที่สนใจจะพัฒนาสมาธิและความสามารถในการสื่อสารของบุตรหลานที่มีสมาธิสั้น โดยใช้กิจกรรมพลศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสมาธิของเด็ก  (รายละเอียด) และได้นำเสนอในการประชุม ICET The 58th World Assembly ณ ประเทศ CANADA  (ดูรายละเอียด)  www.uoit.ca/icet2014