วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

ทำอย่างไรเมื่อได้สอนเด็กพิเศษ

ทำอย่างไรเมื่อได้สอนเด็กพิเศษ
                                      ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์
12 มีนาคม 2560

เนื่องจากปัจจุบันพบเด็กที่มีความต้องการพิเศษในสถานศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ครูหลายคนที่ไม่มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษคงมีความสงสัย และเกิดความวิตกเมื่อได้รับมอบหมายให้สอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ 
ก่อนอื่นคงต้องคลายความสงสัยก่อนว่าเหตุใดจึงต้องสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ตามความในพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 ที่ระบุไว้ในมาตราที่ 10 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาที่ระบุให้การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือ ทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้  หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส  ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ   การจัดการศึกษาสำหรับบุคคคลดังกล่าวให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง นอกจากนั้นยังระบุว่าให้จัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษด้วยรูปแบบที่เหมาะสมคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น 
นอกจากนั้น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวดที่2 มาตรา 10 วรรค 2-4  ระบุให้จัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่ความต้องการพิเศษตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา สำหรับการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลมีความสามารถพิเศษต้องจัดในรูปที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับข้อความในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 23 วรรค 2-4 ที่ระบุว่ารัฐภาคียอมรับในสิทธิของเด็กพิการที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งด้านการได้รับการศึกษา การฝึกอบรม การบริการด้านสุขภาพ การฟื้นฟูสภาพ บริการด้านการฝึกอาชีพ 
การจัดการศึกษาและบริการสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้น  รัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง พ่อแม่ผู้ปกครอง จะต้องจัดให้เหมาะสมกับพัฒนาการและความต้องการจำเป็น โดยให้ได้รับการเข้าถึงและได้รับการศึกษาอบรม ตลอดจนบริการดูแลสุขภาพ บริการฟื้นฟูสภาพ อย่างเหมาะสม  ครูที่ได้รับมอบหมายจึงต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเภท ความต้องการพิเศษ วิธีการจัดการเรียนรู้ สื่อ และวิธีประเมินผลการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคน ซึ่งต้องมีการจัดทำแผนการศึกษารายบุคคล ที่ต้องจัดทำโดยได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้รับการส่งเสริมให้มีพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอิสระได้อย่างมีความสุขตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน
สำหรับการสอนเด็กพิเศษควรสอนโดยยึดหลักดังนี้
1. หลักการพัฒนาเด็กพิเศษอย่างเต็มศักยภาพและสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของเด็กพิเศษ
2. หลักการจัดการศึกษาพิเศษเพื่อการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข
3. หลักความเสมอภาค
4. หลักการมีส่วนร่วม
5. หลักความสอดคล้อง
สำหรับขั้นตอนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ  ครูควรดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1. ประเมินความสามารถผู้เรียน
2. กำหนดเนื้อหา ประสบการณ์
3. ทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล
4. จัดการเรียนรู้
5. ประเมินและสรุปผลการเรียน
............................................................................................................................................................................
รายการอ้างอิง
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ. พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551
ค้นวันที่ 3 มีนาคม 2559 จาก http://dep.go.th/?q=th/node/432
จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์ (2559) ทำอย่างไรเมื่อได้สอนเด็กพิเศษ กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (2543) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา

ลาดพร้าว